Sunday, June 7, 2015

การเลือกเวย์โปรตีน (Whey Protein)

การเลือกเวย์โปรตีน (Whey Protein)


คนที่เริ่มต้นเล่นเวทหรือเข้าฟิตเนสใหม่ๆ คงเคยได้ยินว่านักเพาะกายหรือคนที่อยากได้กล้าม มักจะกินเวย์โปรตีน
บางคนก็เข้าใจเลยเถิดไปเลยว่าเป็นอาหารเสริมมหัศจรรย์ กินเวย์แล้วตื่นมากล้ามจะขึ้นเป็นอาร์โนลทันที
สาวๆบางคนไม่กล้ากินเพราะกลัวกล้ามขึ้น ว่าไปนั่น

ความจริงแล้วเวย์โปรตีน ก็เหมือนโปรตีนจากแหล่งอื่นๆครับ จุดประสงค์หลักคือเป็นสิ่งที่ร่างกายนำไปซ่อมแซมกล้ามเนื้อ
เช่นเดียวกับที่เรากินไข่ กินอกไก่ กินนม นั่นแล เพียงแต่เวย์โปรตีนจะช่วยเพิ่มความสะดวกรวดเร็ว สำหรับคนที่ไม่ค่อยมีเวลา

จำเป็นต้องกินเวย์โปรตีนหรือไม่?

เวย์โปรตีนเป็นอาหารเสริมชนิดหนึ่ง ขึ้นชื่อว่าอาหาร"เสริม" แล้วมันไม่ใช่สิ่งที่"จำเป็น"อยู่แล้วครับ
แต่ทีนี้มาดูว่า สำหรับใครบ้างที่ควรกิน

งานวิจัยหลายๆแหล่งชี้ว่า สำหรับคนที่เล่นเวทเพื่อสร้างกล้ามเนื้อ การบริโภคโปรตีนประมาณ 0.8 กรัม ต่อน้ำหนักตัว 1 ปอนด์ ต่อวัน ก็เพียงพอแล้ว
ดังนั้นสมมติว่าเราน้ำหนักตัว 70 กิโลกรัม (1 กิโลกรัม เท่ากับ 2.2 ปอนด์) เราจะต้องการโปรตีน 70 x 2.2 x 0.8 = 123.2 กรัม ต่อวัน

ถ้าเรามีเวลาว่างสามารถทำอาหารได้เอง และอาหารที่เราทำมีโปรตีนรวมต่อวันเกินกว่าที่เราต้องการแล้ว เวย์โปรตีนก็ไม่จำเป็นแล้วครับ
แต่ถ้าเราเป็นคนที่งานค่อนข้างยุ่ง กินอาหารหลักเต็มที่แล้วได้โปรตีนรวมแค่วันละ 100 กรัม ก็คงไม่ดีต่อการสร้างกล้ามเนื้อเป็นแน่ ตรงนี้เวย์โปรตีนช่วยได้ครับ

การเลือกซื้อเวย์โปรตีน

เวลาที่เราเลือกเวย์โปรตีน สิ่งที่ต้องเน้นคือ ปริมาณโปรตีนครับ (แหงสิ)
อีกอย่างคือเลือกยี่ห้อที่เชื่อถือได้หน่อย เพื่อป้องกันโปรตีนห่วยๆที่ทำ Amino Spiking (Amino Spiking คือการผสมอมิโนที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายเข้าไป เอาไว้หลอกเครื่องวัด ว่ายี่ห้อนี้มีโปรตีนเยอะ ตัวเลขเยอะจริงแต่ร่างกายเอาไปใช้ไม่ได้)

สำหรับปริมาณโปรตีนนั้น ฉลากข้างกล่องเค้ามีบอกอยู่แล้วชัดเจน
หลักๆที่เราต้องดูคือขนาดของโปรตีน ต่อ ขนาดของ Serving ครับ
สารอาหารอื่นๆก็ดูประกอบให้เหมาะสมกับความต้องการของเรา

ตัวอย่าง 

เวย์โปรตีนยี่ห้อ A มีโปรตีน 25 กรัม ต่อ 1 Serving (30 กรัม)
เวย์โปรตีนยี่ห้อ B มีโปรตีน 51 กรัม ต่อ 1 Serving (150 กรัม)

ด้านล่างเป็นภาพฉลากคุณค่าทางโภชนาการ 2 ภาพ ของเวย์โปรตีนสองรุ่น

เวย์โปรตีน A

เวย์โปรตีน B


ถ้าดูปริมาณโปรตีนอย่างเดียวข้างฉลาก โปรตีน B ก็คงจะมีโปรตีนเยอะกว่าใช่ไหมครับ
แต่พอดูปริมาณที่ต้องกินเพื่อให้ได้โปรตีน 51 กรัม เราต้องกินโปรตีน B ถึง 150 กรัม (เยอะมากกกก)
ในขณะที่เวย์โปรตีน A มีโปรตีน 25 กรัม ต่อ Serving แต่ถ้าเราต้องการโปรตีนสัก 51 กรัม
เราก็กินโปรตีน A แค่ประมาณ 60 กว่ากรัม เองครับ กินน้อยกว่าเกินครึ่ง แต่ได้โปรตีนเท่ากัน

อ้าวงี้โปรตีน B ก็ไม่น่าซื้อเลยสิ
อันนี้ก็แล้วแต่จุดประสงค์ครับ ถ้าคนที่กินบ่อยๆ เห็นฉลากก็คงจะรู้ ว่าโปรตีน B คือ Gainer (เกเนอร์) ครับ
Gainer คือเวย์โปรตีนที่ผสมส่วนผสมอื่นๆ เช่น คาร์บ เพื่อให้มีแคลอรี่ที่สูง เหมาะกับคนที่กำลังเพิ่มน้ำหนัก
แต่ส่วนตัวถ้าอยากเพิ่มน้ำหนักแนะนำกินข้าว หรือพวกขนมปังเยอะๆก็ได้ครับ ส่วนเวย์ก็เลือกเอาแบบโปรตีนเยอะๆดีกว่า

เลือกเวย์แบบไหนดี

ในตลาดปัจจุบันจะมีโปรตีนอยู่ 3 แบบหลักๆ เรียงจากถูกไปแพง ตามนี้ครับ
1. Whey Protein Concentrate (เวย์โปรตีนคอนเซนเทรท)
2. Whey Protein Isolate (เวย์โปรตีนไอโซเลท)
3. Whey Protein Hydrolysates (เวย์โปรตีนไฮโดรไลเซทส์)
ซึ่งหลักๆแล้ว สามแบบนี้จะแตกต่างกันในกระบวนการคัดแยก ซึ่งส่งผลต่อเรื่องความบริสุทธิ์ของโปรตีน
แต่ในแง่การใช้งานและประโยชน์หลักๆแล้ว ไม่แตกต่างกันมากครับ เลือกเอาแบบถูกๆไว้ก่อน ยกเว้นมีเงินเหลืออยากลองก็ไม่ว่ากัน

มีข้อยกเว้นคือ หากปกติคุณเป็นคนแพ้น้ำนม เนื่องมาจากแลคโตส/แล็กโทส (Lactose) ในนม โดยจะมีอาการท้องเสีย ท้องอืด
ให้ลองเปลี่ยนไปกิน Whey Isolate ดูครับ เพราะใน Isolate จะมีแลคโตสน้อยกว่าครับ

ตัดจบเท่านี้ครับสำหรับเรื่องเวย์โปรตีน ใครสงสัยหรือมีอะไรจะแชร์เชิญได้ครับ ไว้พบกันโอกาสหน้าครับ
----

No comments:

Post a Comment